ภาพถ่ายกองบิน ๑ เมื่อครั้งในอดีต
ในกรณีพิพาทอินโดจีน
เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ กองบินน้อยที่ ๑ ได้แยกออกเป็นฝูงบินอิสระ ไปปฏิบัติการทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างกล้าหาญ จนได้รับคำชมเชย และให้ประดับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "สายยงยศไหมเขียว" หลังจากพิพาทอินโดจีนไม่นานนัก ฝูงบินของกองบินน้อยที่ ๑ ได้เข้าร่วมเป็นฝูงบินผสมของกองบินใหญ่ ไปปฏิบัติการรบอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ในสงครามเอเชียบูรพา และสร้างเกียรติประวัติอย่างกล้าหาญ
ในยุทธการทางอากาศเหนือนครลำปาง เมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๗ โดยใช้เครื่องบิน จำนวน ๕ เครื่อง เข้าต่อสู้กับเครื่องบินข้าศึก จำนวน ๒๑ เครื่อง อย่างกล้าหาญ ทำให้ข้าศึก สูญเสียเครื่องบินรบไปหลายเครื่อง จนต้องล่าถอยออกจากน่านฟ้าไทย สำหรับเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการในครั้งนั้น คือ เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดแบบที่ ๒ บ.จ.๒ (นาโงยา) เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๒ บ.ข.๑๒ (โอตะ) และเครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๓ บ.ข.๑๓ (ฮายาบูซา) จากเกียรติประวัติดังกล่าว กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ขอพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ให้แก่นักบิน และพลปืนหลังทุกคน
ยุทธการทางอากาศเหนือนครลำปาง (๕ ต่อ ๒๑)
ระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา ฝูงบินโจมตีของสัมพันธมิตร จำนวน ๒๑ เครื่อง ประกอบด้วย เครื่องบินแบบ พี-๕๑ (มัสแตง) และเครื่องบินแบบ พี-๓๘ (ไลท์นิ่ง) ได้เข้าโจมตีสนามบินลำปาง ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๗ กองบินใหญ่ผสมภาคพายัพของกองทัพอากาศไทยได้ส่งฝูงบินขับไล่ เครื่องบินขับไล่แบบ ๑๒ (Ki-27 Ota) จำนวน ๕ เครื่องขึ้นทำการบินขับไล่สกัดกั้น เพื่อขัดขวางการโจมตีของข้าศึก โดยมี เรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร, พันจ่าอากาศเอก จุลดิศถ์ เดชกุญชร, พันจ่าอากาศเอก วาสน์ สุนทรโกมล และจ่าอากาศเอก ธาดา เบี้ยวไข่มุก เป็นนักบิน เกิดการยุทธกลางอากาศกับเครื่องบินของข้าศึกเหนือนครลำปาง เป็นการต่อสู้โดยเครื่องบิน แบบ ๕ ต่อ ๒๑ ท่ามกลางสายตาสักขีพยานชาวนครลำปางที่ให้กำลังใจ แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เครื่องบินของไทยถูกข้าศึกยิงทั้ง ๕ เครื่อง ฝ่ายเราต้องสูญเสีย พันจ่าอากาศเอก วาสน์ สุนทรโกมล นักบินผู้กล้าหาญไปในการรบครั้งนี้ เพื่อแลกกับเครื่องบินของข้าศึก ๔ เครื่อง และความเสียหายของบ้านเมือง อันอาจเกิดจากการโจมตีของข้าศึก ที่มิอาจประมาณค่าได้
ทั้งนี้ ฝ่ายเราเกือบจะต้องสูญเสีย เรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ผู้บังคับฝูงบิน (ต่อมาได้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ) ซึ่งถูกยิงที่ขา กระสุนฝังใน ตกลงมาพร้อมกับเครื่องบิน และได้รับการช่วยเหลือจากช่างประจำเครื่องหามออกจากจุดตกก่อนที่เครื่องบินนั้นจะระเบิดเป็นชิ้นด้วยการยิงกระหน่ำของข้าศึก ความกล้าหาญ ความเสียสละและขวัญกำลังใจที่ดียิ่งของกำลังรบ กองบินใหญ่ผสม ภาคพายัพของกองทัพอากาศไทย เป็นปัจจัยของความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ในการยุทธทางอากาศครั้งนี้
เรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร
ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญประดับช่อชัยพฤกษ์
ประดับเหรียญโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
วีรกรรมทหารอากาศไทยกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๘๓ - ๒๔๘๔
จากกรณีประเทศไทยเสียดินแดงให้แก่ประเทศฝรั่งเศสรวม ๕ ครั้ง ระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๐ - ๒๔๕๐ อย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสได้กำหนดการปักปันเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส โดยมิได้ยึดถือตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและความยุติธรรม คือมิได้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน แต่กลับถือว่าบรรดาเกาะทั้งหลายในลำแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสทั้งสิ้น และดอนซึ่งอยู่ติดเขตแดนฝั่งไทยที่มีร่องน้ำตื้นลุยข้ามได้นั้น ฝรั่งเศสถือว่าเป็นเกาะ หลังจากนั้นประเทศไทยได้พยายามเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อขอปรับปรุงเส้นเขตแดนใหม่ให้เป็นธรรมแต่ไม่สำเร็จ จึงเป็นสาเหตุเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น และมีการละเมิดเส้นเขตแดนหลายครั้ง จนกระทั่งนำไปสู่การสู้รบ ระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ จนถึงวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ในระยะเวลาที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ได้มีการปฏิบัติการรบทางอากาศเป็นครั้งแรกของกองทัพอากาศ และอีกหลายครั้งติดตามมา
ในการสู้รบครั้งนั้น นักบินแห่งกองทัพอากาศไทยหลายท่าน ได้พลีชีพเพื่อชาติในการสู้รบทางอากาศกับฝ่ายข้าศึกซึ่งมีความพร้อมรบ กำลังทางอากาศที่เข้มแข็งกว่า ทั้งในด้านจำนวนและประสิทธิภาพของอากาศยาน แต่ด้วยขวัญและกำลังใจของฝ่ายไทยซึ่งได้ผนึกกำลังป้องกันประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทุกหมู่เหล่ามีเหนือกว่าข้าศึกซึ่งประกอบด้วยกำลังต่างชาติต่างภาษา ที่มิได้มีจุดมุ่งหมายในการรบเพื่อป้องกันประเทศชาติของตนเอง ทำให้กำลังทางอากาศของฝ่ายไทยสามารถเข้าทำการรบได้อย่างองอาจกล้าหาญ และสามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ แม้จะต้องฝ่าอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตจนทำให้เกิดวีรกรรมที่ทหารอากาศและประชาชนชาวไทยทุกคนจดจำมิรู้ลืมตราบเท่าทุกวันนี้
วีรกรรมทหารอากาศไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘
ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพอากาศไทยได้ปฏิบัติการรบทางอากาศครั้งสำคัญ และยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งต่อเนื่องจากการยุทธทางอากาศในกรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส เป็นการรบเพื่อป้องกันประเทศ ทหารอากาศได้ประกอบวีรกรรมครั้งสำคัญๆ ที่สมควรนำมากล่าวถึงรวม ๔ ครั้ง ซึ่งได้ปฏิบัติการรบทางอากาศอย่างกล้าหาญกับฝ่ายข้าศึกสัมพันธมิตรแม้จะมีกำลังทางอากาศที่ด้อยกว่าทั้งจำนวนและสมรรถนะของเครื่องบินก็ตาม